เมื่อร่างกายเราเกิดบาดแผลขึ้นจากสาเหตุต่างๆ  เช่น  แผลจากการถูกของมีคมหรืออุบัติเหตุ แผลไฟไหม้  แผลถลอก  แผลจากสิว  แผลจากการผ่าตัด    เป็นต้น  ร่างกายของเราจะมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดขึ้น  ด้วยการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาทดแทน   ซึ่งเมื่อบาดแผลหายดีแล้วก็จะปรากฏเป็นรอยแผลเป็นขึ้น

รอยแผลเป็น  (Scar) เป็นรอยแผลที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ  ทำให้เกิดเป็นรอยแผลที่แตกต่างจากผิวหนังปกติ  ทั้งนี้รอยแผลเป็นจะมีความหนักเบา  มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่ความรุนแรงของการฉีกขาดของบาดแผลและเนื้อเยื่อว่ารุนแรงแค่ไหน  และการดูแลรักษาบาดแผลนั้นทำได้ดีมากน้อยเพียงใด

ประเภทของรอยแผลเป็น

รอยแผลเป็นนั้นจะมีด้วยกันหลายประเภท  แต่สามารถแบ่งออกมาให้เห็นชัดเจนได้ 6 ประเภทด้วยกัน  ดังนี้

  1. Mature scars เป็นรอยแผลเป็นที่ไม่มีความผิดปกติ   แผลเรียบ มีสีใกล้เคียงกับสีผิวหนังปกติ มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากการถูกของมีคม
  2. Atrophic scars เป็นรอยแผลเป็นที่รอยลึกลงจากผิวหนัง มีสีใกล้เคียงกับสีผิวหนังปกติ มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวหรือโรคอีสุกอีใส
  1. Stretched scars เป็นรอยแผลเป็นแบบเรียบ แข็ง ไม่นูน  ขอบของรอยแผลเป็นจะไม่ขยายออกไปกว่าบาดแผลเดิม  มีสีจางกว่าสีผิวปกติ   มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดบริเวณหัวเข่าหรือหัวไหล่
  2. Contracted scars เป็นรอยแผลเป็นที่มีการหดรั้งของชั้นผิวหนัง  มักเกิดบริเวณข้อต่างๆ  เช่น  ข้อศอก  ข้อมือ
  3. Hypertrophic scars เป็นรอยแผลเป็นที่นูนขึ้นเหนือผิวหนังปกติ  มีสีเข้มกว่าสีผิวปกติ   ขอบของรอยแผลเป็นมีขนาดเท่ากับแผลเดิม   จะมีอาการคันและระคายเคืองในช่วงแรก   มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากบาดแผลที่มีการฉีกขาดมากหรือบาดแผลที่มีความลึกมาก
  4. Keloids เป็นรอยแผลเป็นที่นูนสูงจากผิวหนังมาก ขอบเขตแผลมีการขยายกว้างมากกว่ารอยแผลเดิม มีสีเข้มกว่าสีผิวปกติ  จะมีอาการคันและระคายเคืองในช่วงแรก

หลากหลายวิธีการรักษารอยแผลเป็น

เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นสิ่งสำคัญที่เราต้องใส่ใจคือ  การดูแลบาดแผลของเราให้ดีที่สุด  และเหมาะสมที่สุด  เพื่อให้แผลของของเราหายเป็นปกติ  และทำให้เกิดรอยแผลเป็นให้น้อยที่สุด

            *ยิ่งบาดแผลหายเร็วได้เท่าไร  โอกาสที่จะเกิดเป็นรอยแผลเป็นก็จะลดลงด้วย*

การดูแลรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกตินั้น  นอกจากการดูแลความสะอาดของบาดแผลและปิดบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อและอักเสบแล้ว  ปัจจัยสำคัญในด้านอื่นๆ  ที่จำเป็นต่อการหายของบาดแผลก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ  เช่น   อาหารที่รับประทานที่ควรเน้นโปรตีน  วิตามิน C และ Zinc (สังกะสี)  เพื่อใช้ในการซ่อมแซมร่างกาย  งดดื่มสุราและสูบบุหรี่  รวมถึงอุณหภูมิรอบตัวที่อบอุ่นก็ช่วยให้แผลหายไวได้เช่นกัน

แต่หากเกิดรอยแผลเป็นขึ้นแล้ว  ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ  เพราะปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหารอยแผลเป็นกวนใจ  เพื่อให้ผิวกลับมาเรียบเนียนได้  ยกตัวอย่างที่น่าสนใจได้ดังนี้

  1. ปล่อยเอาไว้จนกว่าจะจางไปเอง เป็นวิธีที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้รอยแผลเป็นจางลงไปเอง  หรืออาจปล่อยให้จางลงอย่างเต็มที่ก่อนเข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป  อาจใช้เวลา 12-18 เดือน   
  2. กลบปิดแผลเป็นด้วยวิธีการต่างๆ สำหรับรอยแผลเป็นบางจุดที่ไม่ใหญ่มาก หรือมีสีที่ไม่ต่างจากสีผิวเดิม  อาจใช้เครื่องสำอางปกปิดอำพรางได้เช่นกัน  หรือบางคนก็อาจเลือกวิธีการสักลายลงไปที่ผิวเพื่อปกปิดแผลเป็นแบบถาวรเลยก็ได้
  3. ใช้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อแก้รอยแผลเป็น โดยสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป มีทั้งที่เป็นครีมทาลบรอยแผลเป็นหรือยาทาสำหรับแก้ไชรอยแผลเป็น  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีส่วนผสมของวิตามิน E ที่ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเร่งการซ่อมแซมแผลได้อย่างดีขึ้น  และอาจมีส่วนผสมของวิตามิน A และวิตามิน B3  ที่ช่วยลดความเข้มของสีผิว

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อแก้ไขรอยแผลเป็นที่ได้รับความนิยม  มักมีส่วนผสมของ  Mucopolysaccharides ที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดใต้ผิวหนัง  ช่วยให้การซ่อมแซมของแผลเป็นไปอย่างสมบูรณ์  รอยแผลเป็นยุบตัวลง  แต่ทั้งนี้การจะเลือกผลิตภัณฑ์ทาเพื่อแก้รอยแผลเป็นนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ  เพื่อให้เหมาะกับผิวของตัวเอง  และป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้

  1. ฉีด Filler เติมเต็ม กรณีที่รอยแผลเป็นมีลักษณะบุ๋มลงไปในผิวหนัง สามารถใช้ Filler ที่เป็นสารเติมเต็มที่สกัดมาจาก Hyaluronic Acid เข้าไปเติมรอยบุ๋มของแผลให้กลับมาเต่งตึงได้ ซึ่งผลลัพธ์จะคงอยู่ได้นาน 6-8 เดือน  จากนั้นจะค่อยๆ ย่อยสลายไป  และต้องฉีดใหม่
  1. การฉีดสารต่างๆ เข้าไปลดขนาดของรอยแผลเป็น ปัจจุบันมีการใช้สารหรือยาต่างๆ ที่ออกฤทธิ์ในการลดขนาดของรอยแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่ กว้าง  หรือนูน  ให้เล็กลงและอ่อนนุ่มได้  เช่น  สาร  Bleomycins  เป็นต้น  และยังมียาที่มีส่วนผสมของสาร Steroid ที่ช่วยให้แผลเป็นที่แข็ง  นูน  ให้อ่อนนุ่มลงได้  ทั้งนี้จะต้องอยู่ในการดูแลโดยแพทย์  เพื่อควบคุมปริมาณการใช้ให้เหมาะสม
  2. ทำเลเซอร์ลบรอยแผลเป็น เป็นการใช้พลังงานจากเลเซอร์เพื่อส่งผ่านชั้นผิวหนังเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอยแผลเป็นที่นูนให้เรียบเนียนขึ้น เช่น  การใช้คลื่นแสง VIPL (V-Intense pulse light) ที่เป็นพลังงานแสงที่ช่วยให้เนื้อเยื่อของรอยแผลเป็นเกิดการเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ  ซึ่งหากได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องแล้วรอยแผลเป็นจะมีขนาดเล็กลงได้
  1. การผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์จะผ่าตัดตกแต่งรอยแผลเป็น เก่าแล้วเย็บใหม่เพื่อจัดรูปทรงและตำแหน่งของรอยแผลเป็นให้ดีขึ้น หรือตัดส่วนที่เป็นรอยแผลเป็นที่นูนให้เล็กลง  ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีกับรอยแผลเป็นที่มีมานานแล้ว

ในกรณีที่รอยแผลเป็นมีขนาดกว้างมาก  ซึ่งเป็นผลจากบาดแผลที่มีความรุนแรงของการฉีกขาดสูง  แพทย์จะผ่าตัดแก้ไขด้วยนำผิวหนังส่วนอื่นมาปะติดแทน

เหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของการแก้ไขรอยแผลเป็นสำหรับให้ได้เลือกวิธีการกัน  แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีใดที่จะสามารถแก้ไขรอยแผลเป็นได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ดังนั้นหัวใจสำคัญของการป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นก็คือการดูแลรักษาบาดแผลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เบื้องต้นนั้นเอง  โดยการไปพบแพทย์และรับการรักษาที่ถูกต้อง  พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดรอยแผลเป็นที่เราไม่พึงประสงค์ได้ในระดับหนึ่ง