เครื่องสำอางและเวชสำอาง

ความแตกต่างของ เครื่องสำอางและเวชสำอาง ที่ควรรู้

สำหรับคนที่รักสวยรักงามไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย  ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเครื่องสำอางเป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้เลยในชีวิตประจำวัน  เพราะถือเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจที่จะออกไปพบปะผู้คนเป็นอย่างมาก  ซึ่งเครื่องสำอางในปัจจุบันนั้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ  และยังหลากหลายประโยชน์อีกด้วย เครื่องสำอางและเวชสำอาง จะต่างกันอย่างไรมาดูกัน

แล้วมีใครรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า  “เวชสำอาง”  กันไหม??

หลายคนเข้าใจว่าเวชสำอางก็คือเครื่องสำอาง  เรียกเหมือนกันได้  ใช้เหมือนกันได้ ที่แย่กว่าคือ  บางคนเข้าใจว่าการใช้เครื่องสำอางนั้นจะมีผลเหมือนกันกับการใช้เวชสำอาง ก็เลยเอามาใช้แทนกันเลยรู้กันหรือไม่ว่ากำลังเข้าใจกันผิด!! ถ้าเช่นนั้นเราก็ควรจะทราบก่อนว่าเครื่องสำอางและเวชสำอางนั้นคืออะไร  และมีความแตกต่ากันอย่างไรบ้าง

อะไรคือ  “เครื่องสำอาง”

เครื่องสำอาง  (Cosmetics)  เป็นวัตถุหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น  ทา  นวด  พ่น  โรย  ป้าย วาด  หยอด  ใส่  อบ  เพื่อให้เกิดความสะอาด  ความสวยงาม  ซึ่งหากจัดแบ่งประเภทของเครื่องสำอางตามความปลอดภัยแล้วจะมีด้วยกัน 3 ประเภท  ดังนี้

  1. เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายกับผู้ใช้ได้  จึงต้องมีการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดโดยองค์การอาหารและยา (อย.)  ซึ่งจะทำการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนและขึ้นทะเบียนตำรับเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ  จึงจะสามารถผลิตและจำหน่ายได้

ตัวอย่างเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ  เช่น  ผลิตภัณฑ์ทำสีผมถาวร  ยืดผม  ดัดผม  หรือยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  ผลิตภัณฑ์กำจัดขนหรือทำให้ขนร่วง  เป็นต้น

  1. เครื่องสำอางควบคุม เป็นเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงต่อผู้ใช้น้อย เพราะมีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ

ตัวอย่างเครื่องสำอางควบคุม  เช่น  ผ้าอนามัยทั้งชนิดแผ่นและชนิดสอด   แป้งฝุ่นโรยตัว  แป้งน้ำ  ผลิตภัณฑ์ขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซิงก์ไพริไทโอน   ไพรอกโทนโอลามีน  และคลิมบาโซล  เป็นต้น

  1. เครื่องสำอางทั่วไป เป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายกับผู้ใช้ ซึ่งต้องมีฉลากที่มีข้อความบอกส่วนผสมและสรรพคุณให้ครบถ้วน

ตัวอย่างเครื่องสำอางทั่วไป  เช่น  อายแชโดว์  อายไลเนอร์  ดินสอเขียนคิ้ว  ลิปสติก  ครีมรองพื้น  สบู่  โฟมล้างหน้า  ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย  สีทาเล็บ  ผลิตภัณฑ์จัดทรงผม

เครื่องสำอางนั้นมีการวางขายทั้งตามท้องตลาดหรือในห้างสรรพสินค้า  ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายแบบตามความต้องการของแต่ละคน

แล้วอะไรคือ  “เวชสำอาง”

เวชสำอาง  (Cosmeceuticals)  มาจากคำว่า เวชภัณฑ์ + เครื่องสำอาง  เป็นวัตถุหรือผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาคุณสมบัติของเครื่องสำอางในด้านความสะอาดและความสวยงาม  เข้ากับคุณสมบัติในการรักษาอาการผิดปกติของผิวแบบเดียวกับยา  (แต่เวชสำอางนั้นยังไม่ถือว่าเป็นยา)  เช่น  ผลิตภัณฑ์รักษาสิว  ฝ้า  กระ  ซึ่งเวชสำอางโดยทั่วไปและเหมาะสมนั้นจะต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ  เพราะแพทย์จะต้องทำการวิเคราะห์ถึงปัญหาของผิวก่อน  จึงจะสั่งจ่ายเวชสำอางที่เหมาะสมกับอาการให้ได้อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันเวชสำอางได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะเวชสำอางที่เป็นแบบธรรมชาติ  (Natural Cosmeceuticals)  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้  ทั้งกลิ่น  สี  สารปรุงแต่ง  สารคงสภาพ  หรือสารที่ทำละลาย  จึงทำให้ผู้ใช้ในปัจจุบันให้ความสนใจและนิยมใช้กันมาก  เพราะมั่นใจในความปลอดภัยได้

เปรียบเทียบความแตกต่างของเครื่องสำอางและเวชสำอาง

เลือกซื้อเครื่องสำอางและเวชสำอางอย่างไรให้ปลอดภัย

ปัจจุบันนี้ทั้งเครื่องสำอางและเวชสำอางนั้นสามารถหาซื้อกันได้ง่ายทั้งในท้องตลาดทั่วไป  เคาน์เตอร์แบรนด์ตามห้างสรรพสินค้า  สถานเสริมความงาม  จนถึงการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต   ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางและเวชสำอางเพื่อนำมาใช้  จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง

สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องสำอางอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง ควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนทั้งเครื่องหมายรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) วันหมดอายุ ชื่อของบริษัท ตรวจดูส่วนผสมว่ามีสารอะไรบ้างที่เราอาจจะแพ้ รวมไปถึงศึกษาคำเตือนและวิธีใช้ให้ถูกต้อง ที่สำคัญคือควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้เสมอ โดยนำเครื่องสำอางนั้นทาบางๆ ที่ท้องแขน หากมีอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคือง แสบร้อน คัน ควรเลิกใช้เครื่องสำอางนั้น

ส่วนการเลือกซื้อเวชสำอางเพื่อใช้ดูแลปัญหาผิวนั้นมีวิธีคล้ายคลึงกับการเลือกซื้อเครื่องสำอาง  แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือ ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดเวชสำอางที่เหมาะสมให้จะดีที่สุด เพื่อให้ได้เวชสำอางที่ตรงกับปัญหาผิว ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

บทความโดย นิติพลคลินิก